
โรคลมแดดในม้า (Heat Stroke)
โรคลมแดดเกิดขึ้นได้กับทุกสัตว์ เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป และไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ทัน ทำให้ความร้อนสะสมอยู่ในร่างกาย และอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ม้าระบายความร้อนทางเหงื่อเป็นหลัก โดยในเหงื่อม้าจะประกอบไปด้วยน้ำและเกลือแร่ต่าง ๆ ถ้าม้าขาดเกลือแร่ จะทำให้การขับเหงื่อลดลง ร่างกายม้าระบายความร้อนได้ไม่ดีตามไปด้วย
การป้องกันโรคลมแดดในภาวะอากาศร้อน สามารถทำได้โดย ปรับการจัดการ ปล่อยแปลงให้เช้าขึ้น และค่ำลง ในช่วงวันอากาศร้อนมาก (10 โมง ถึงบ่าย 4) ให้ม้าอยู่ในที่ร่ม ภายในคอกต้องมีพัดลม หรือ การระบายอากาศที่เพียงพอ ใช้วัสดุหลังคา หรือผนังที่กันความร้อนได้ดี สำหรับม้าที่ใช้งาน ฝึกซ้อม หรือออกกำลังกาย ให้ปรับเวลาให้เช้าขึ้น หรือ ค่ำลง เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงอากาศร้อนจัดในตอนกลางวัน
สิ่งที่สำคัญ สำหรับการเลี้ยงม้าในช่วงที่อากาศร้อนเช่นนี้ คือ น้ำสะอาด ควรเตรียมไว้ให้ม้าได้มีกินตลอดเวลา เพื่อเป็นการช่วยลดความร้อนจากร่างกายทางหนึ่ง และเพิ่มเกลือแร่ให้ม้ามากขึ้น เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่ม้าสูญเสียพร้อมกับเหงื่อที่มากขึ้น
ม้าที่เริ่มมีอาการของโรคลมแดด จะหายใจเร็ว การสังเกตสามารถดูได้จากจมูก โดยจมูกม้าจะหุบเข้า หุบออกเร็วกว่าปกติ หรือดูที่ด้านข้างลำตัว จะมีการขยายเข้าออกเร็วกว่าปกติ หากเริ่มมีอาการดังกล่าวให้พาม้าเข้ามาอยู่ในที่ร่ม มีการระบายอากาศที่ดี และทำการช่วยระบายความร้อนจากตัวม้า คล้ายกับการ cool down ในช่วงพักของการแข่งขันกีฬาขี่ม้ามาราธอน โดยใช้น้ำเย็น ราดไปตามตัวม้าให้ทั่ว แล้วใช้กราดรีดน้ำออกจากตัวม้า ทำ 2-3 รอบ สลับกับการพาม้าเดิน 5 นาที แล้วนำม้ามาราดน้ำ และรีดน้ำออกจากตัวม้า จนกว่า การหายใจจะดีขึ้น หากทำมา 20 นาที แล้ว อาการม้าไม่ดีขึ้นให้รีบติดต่อสัตวแพทย์โดยด่วน เพราะอาจมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมได้

https://stablemanagement.com/articles/how-support-your-horse-in-summer-heat
และกลุ่มม้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ ลูกม้า และม้าแก่
ลูกม้าแรกเกิด อาหารหลัก คือ น้ำนมแม่ ดังนั้นต้องดูแลลูกม้าอย่างใกล้ชิด นอกจากการดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมที่ลูกม้าอยู่ไม่ให้ร้อนจนเกินไป การระบายอากาศดี ดูแลให้ลูกม้าได้กินนมจากแม่ม้า อย่างเพียงพอ และดูแลสุขภาพแม่ม้าให้พร้อมแก่การให้นม และเลี้ยงลูกม้าด้วย โดยเลือกอาหารให้เหมาะสม มีพลังงานและสารอาหารเพียงพอต่อการผลิตน้ำนม มีน้ำสะอาดให้เพียงพอ และเสริมเกลือแร่เพิ่มขึ้น
ส่วนในม้าแก่นั้น ร่างกายจะปรับตัวในสภาพอากาศที่ร้อนได้น้อยกว่าม้าปกติ ดังนั้นจึงควรดูแลในเรื่องความร้อนของสภาพแวดล้อม การปล่อยแปลง และดูแลอย่างกล้ชิด สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
